Saturday, April 14, 2012

ขมิ้นชันมีฤทธิ์ป้องกันโรคสมองเสื่อมได้

ด้าน ดร.ประคองศิริ บุญคง นักวิจัยองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า มีงานวิจัยในต่างประเทศเกี่ยวกับ
การใช้สารสีเหลืองสกัดจากเหง้าขมิ้นชัน หรือเคอร์คูมินอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี ต้านการอักเสบ บำรุงรักษาตับ ป้องกันมะเร็งและมีฤทธิ์ในการป้องกันสมองเสื่อม ซึ่งการวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่าเคอร์คูมินอยด์ ลดจำนวนกลุ่มของสารซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคสมองเสื่อม นอกจากนั้นเคอร์คูมินอยด์ยังช่วยลดการอักเสบ ของเนื้อเยื่อสมองและลดความเสียหาย เนื่องจากการเกิดอนุมูลอิสระของเซลล์ในสมอง

ขมิ้นชันกับอัลไซเมอร์

อัลไซเมอร์เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติในเนื้อสมอง โดยจะพบลักษณะที่สำคัญสองอย่างคือกลุ่มใยประสาทที่พันกัน (Neurofibrillary tangles) และมีการสะสมของสาร beta amyloid ในสมอง ใยประสาทที่พันกันจะทำลายระบบการขนส่งสารในเซลล์ประสาท ทำให้เกิดความผิดปกติในการสื่อสารทางชีวเคมีระหว่างเซลล์ประสาทมีผลให้เซลล์ตายในเวลาต่อมา   และการที่สมองมีการสะสมของสาร beta amyloid ในปริมาณมากจนมีลักษณะเหมือนคราบในสมอง เรียกว่า แอมีลอยด์ พลาก (amyloid plaques) มีผลให้ลดการสังเคราะห์สารสื่อประสาทชนิด acetylcholine ในสมองลดลง  ซึ่งสาร acetylcholine จะมีส่วนสำคัญในเรื่องการเรียนรู้และความจำ   มีรายงานการวิจัยว่าขมิ้นชันมีสาร curcuminoids ซึ่งประกอบไปด้วยสาร curcumin 75-80%, demethoxycurcumin 15-20% และ bisdemethoxycurcumin 3-5%  จากการศึกษาในสัตว์ทดลองเมื่อป้อนสาร curcuminoids ให้หนูแรทเพศผู้ ขนาด 10 มก./กก. หลังจากนั้นฉีดสาร scopolamine เข้าทางช่องท้อง 2 มก./กก. เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดความจำเสื่อม พบว่าสาร curcuminoids สามารถฟื้นฟูความทรงจำในส่วนที่ถูกทำลายด้วย scopolamine ได้ และมีการทดสอบว่าขนาดของสาร curcuminoids, bisdemethoxycurcumin, demethoxycurcumin, และ curcumin ที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ acetylcholinesterase ได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) มีค่าเท่ากับ 19.67, 16.84, 33.14 และ 67.69 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ    ซึ่งการศึกษาโดยส่วนใหญ่กล่าวว่าสาร curcuminoids ในขมิ้นชันมีฤทธิ์ในการต้านการสร้างสาร beta amyloid ในสมอง และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ acetyl-cholinesterase (เอนไซม์ทำลายสาร acetylcholine ) ซึ่งจะมีผลให้สาร acetylcholine ในสมองไม่ถูกทำลาย จึงคาดว่าสามารถป้องกันอาการความจำเสื่อมในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้ นอกจากนี้ยังมีการจดสิทธิบัตรตำรับยาจีนที่มีส่วนผสมของสาร curcumin จากเหง้าขมิ้นชัน 30-95%  ใบแป๊ะก๊วยที่มีสาร flavones 2-24% และโสมอเมริกันที่มีสาร saponin 2-80% และตำรับยาจีนที่มีส่วนผสมของใบแป๊ะก๊วย 1-10 ส่วน  เหง้าขมิ้นชัน 1-10 ส่วน และเหง้าของต้น Polygala tenuifolia 1-10 ส่วน โดยน้ำหนัก สามารถป้องกันและรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ แต่ยังไม่มีการศึกษาวิจัยทางคลินิกของขมิ้นชันกับโรคอัลไซเมอร์  อย่างไรก็ตามหากต้องการใช้ขมิ้นชัน ขนาดที่ปลอดภัยตามบัญชียาหลักแห่งชาติ พ..2549 แนะนำให้ใช้ในการรักษาอาการจุกเสียด คือ ครั้งละ 2-4 แคปซูล (500-1,000 มก.) วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน  ห้ามใช้ในผู้ที่มีท่อน้ำดีอุดตัน ผู้ป่วยโรคนิ่ว หญิงมีครรภ์ และหากมีอาการแพ้ เช่น ผื่นขึ้นที่ผิวหนังทำให้ผิวหนังอักเสบต้องหยุดใช้ทันที

 


0 comments:

Blog Archive