Friday, April 13, 2012

บ้านเพื่อผู้สูงวัย ด้วย Universal Design

บ้านเพื่อผู้สูงวัย ด้วย Universal Design

หลายๆ คนที่มีผู้สูงอายุอยู่ในบ้านรวมถึงตัวเองต้องเคยมีประสบการณ์ที่ว่า ผู้สูงอายุมีปัญหาในการใช้ชีวิตในบ้านเช่นปวดเข่าจึงเดินขึ้นชั้นสองไม่ได้ หรือไม่ก็ประสบอุบัติเหตุในบ้านกันมาบ้างแล้ว ที่ได้ยินบ่อยๆ เลยอย่างล้มในห้องน้ำ หรือสะดุดขั้นบันไดตอนก้าวขึ้นบันได โดยเฉพาะบ้านรุ่นเก่าๆ เมื่อสัก 20-30 ปีที่แล้ว ไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อมารองรับการใช้งานของผู้สูงอายุมากนัก เจ้าของบ้านต้องต่อเติม ปรับปรุงพื้นที่ในบ้านบางส่วนขึ้นมาใหม่เป็นพิเศษ

ระยะหลังๆ มานี้ เวลาที่ไปเดินงานแฟร์เกี่ยวกับบ้านก็เริ่มเห็นกระแสผู้สูงอายุก็เริ่มเป็น ที่สนใจมากขึ้น เคยเข้าไปดูบูธของ SCG ที่ออกแบบบ้านสำหรับผู้สูงอายุ SCG ก็ให้ข้อมูลมาว่าบ้านสำหรับผู้สูงอายุนี้อิงการออกแบบมาจาก แนวคิด Universal Design พอ google ก็ได้รู้ว่า จริงๆ แล้ว Universal Design เป็นการออกแบบอาคารและสิ่งปลูกสร้างบนหลักเกณฑ์ 7 ข้อที่เป็นที่ยอมรับกันว่า เป็นแนวคิดการออกแบบอาคารอาคารและสิ่งแวดล้อมให้คนทุกวัย รวมถึงคนสูงอายุและคนพิการให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนกับคนทั่วไป ที่องค์การสหประชาชาติส่งเสริมและก็เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายกัน

วันนี้เลยขอติดกระแสผู้สูงวัย หยิบแนวทางการออกแบบบ้านทั้งเจ็ดข้อ ที่เห็นสามารถเอามาปรับใช้ได้สำหรับบ้านที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในบ้าน มาสรุปฝากกันคะ


1. เท่าเทียมกันในการใช้สอย (Equitable Use)   

สมาชิกทุกคนในบ้าน ต้องสามารถเข้านอกออกในภายในบ้านได้สะดวกเท่าๆ กัน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ วัยชราหรือแม้แต่ผู้พิการ ด้วยการ...

  • พื้นบ้าน/ทางเดินภายในบ้านควรปรับให้เป็นพื้นเรียบเสมอกัน และก็ควรมีแสงสว่างเพียงพอ เพราะสายตาของผู้อาวุโสอาจจะฝ้าฟางแล้วหรือแม้แต่ตัวเราเองก็ อาจจะก้าวพลาดหรือสะดุดหกล้มหรือเดินชนจนเจ็บตัวเองเอาได้ถ้าแสงสว่างในบ้าน ไม่สว่างพอ
  • ถึงจะเลี่ยงการทำพื้นบ้านเล่นระดับ แต่ก็มาเล่นระดับกับความสูงของเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะอาหาร เคาน์เตอร์ต่างๆ แทนได้ เพราะแต่ละคนก็สูงต่ำไม่เท่ากันแต่ต้องเข้ามาใช้งานได้เหมือนๆ กัน จะได้ไม่เหงาแยกเดี่ยวไปนั่งในพื้นที่ที่จัดให้เป็นพิเศษ ตามลำพัง
  • ธรณีประตู เป็นจุดที่หลายคนเดินสะดุดบ่อยๆ หรือก้าวไม่พ้นจนล้มกระแทกพื้น หรือคนที่ต้องนั่งรถเข็นก็จะเข้าไปไม่ได้เพราะติดธรณีประตู ถ้าเลี่ยงไม่ทำธรณีประตูห้องน้ำได้ก็ควรเลี่ยง
  • ควรแยกส่วนเปียกและแห้งให้ชัดเจน เลี่ยงการใช้กระเบื้องหรือวัสดุปูผิวมันหรือโดนน้ำแล้วลื่น ต้องทำความสะอาดง่าย ระบายน้ำลงท่อได้เร็ว น้ำไม่ขังแช่ ป้องกันตะไคร่น้ำเกาะบนผิววัสดุ
  • ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องไขข้อหรือการทรงตัว ก็ควรเตรียมเก้าอี้นั่งไว้ให้ท่านนั่งสบายๆ อาบน้ำ สระผม
  • พยายามเลือกห้องหรือพื้นที่ที่ผู้สูงอายุใช้บ่อยๆ เช่น ห้องพระ หรือห้องนอนท่านเองอยู่ชั้นล่าง เพราะถ้าให้ท่านเดินขึ้นเดินลงบันไดบ่อยๆ อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้
  • ห้องนอนของผู้สูงอายุควรติดไฟหัวเตียงให้แสงสว่าง เผื่อตอนดึกเข้าห้องน้ำ และควรทำห้องน้ำในห้องนอนเพราะผู้สูงอายุมักจะเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนบ่อยๆ


2. ปรับเปลี่ยนการใช้ได้ (Flexible Use)   

บ้านที่ดีสำหรับสมาชิกทุกคนในครอบครัว ต้องยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนไปตามการใช้งานของสมาชิกแต่ละคนในบ้าน เช่น

  • มีห้องอเนกประสงค์ไว้ที่ชั้นล่างสักห้อง วันดีคืนดีเกิดคุณเจ็บไข้ได้ป่วยจนไม่สามารถเดินขึ้นไปนอนบนห้องนอนที่อยู่ ชั้นบนของตัวบ้านได้ ห้องอเนกประสงค์นี่แหละจะกลายเป็นห้องพักชั่วคราว จนกว่าคุณจะหายดี
  • ราวจับในห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้พิการแบบพับเก็บได้เมื่อไม่ได้ใช้งาน
  • โต๊ะบางตัวอาจจะติดล้อเลื่อนที่ขา ผู้สูงอายุหรือคนที่ไม่สามารถขยับหรือยกโต๊ะได้เอง จะได้เคลื่อนย้ายไปใช้งานได้เองไม่ต้องเป็นภาระใคร


3. ใช้งานง่าย (Simple and Intuitive)   

ผู้อาวุโสของเรา มักจะหงุดหงิดกับพวกอุปกรณ์ในบ้านด้วยสรีระและความคล่องตัวที่ไม่เอื้ออำนวย ไม่เฉพาะกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เท่านั้นที่ทำเอาปวดเวียนศีรษะบ่อยๆ พาลไม่ยอมใช้งานเพราะใช้งานไม่คล่อง แต่ยังรวมถึงอุปกรณ์ทั่วไปที่บางครั้งเราอาจลืมนึกถึงได้ ดังนั้นเวลาเลือกอุปกรณ์ก็ต้องเลือกเอาชนิดที่ใช้งานง่ายสำหรับทุกคนไว้ก่อน ตัวอย่างเช่น

  • มือจับลิ้นชักบางแบบก็อาจจะเล็กเกินไป มือไม้ของผู้สูงอายุบางท่านก็เริ่มจะแข็ง จะกำหรือจับคว้าอะไรก็อาจจะไม่ถนัดมือเหมือนก่อนแล้ว ควรเลือกมือจับรูปตัว D, U แทน เพราะมีช่องว่างให้สอดนิ้วลงไปได้กว้างมากพอและไม่ต้องออกแรงดึงมาก
  • ข้าวของเครื่องใช้ที่ผู้อาวุโสของเราต้องหยิบใช้บ่อยๆ เช่น จานชามในครัว ควรเก็บหรือวางบนชั้นหรือลิ้นชักที่ทุกคนจะหยิบใช้ได้สะดวก ส่วนของที่ท่านไม่ค่อยได้ใช้ค่อยวางไว้บนชั้นที่สูงกว่า
  • สวิสต์ไฟต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกตัวบ้าน ควรจะเปิดปิดได้ง่าย ตัวสวิสท์มีขนาดใหญ่พอที่จะใช้อวัยวะอื่น เช่น มือ ศอก หรือกำปั้น เปิดปิดแทนนิ้วมือได้ อยู่ในตำแหน่งที่ทุกคนเอื้อมปิดได้ไม่ยาก ไม่ต้องก้มหรือยืดสุดแขน
  • อุปกรณ์อะไรที่มีขั้นตอนมากกว่า 3 ขั้นตอนขึ้นไป ก็ไม่ควรนำมาใช้เพราะแสดงว่าการใช้งานเริ่มจะยุ่งยากเกินไปแล้วสำหรับพวก ท่าน ควรเป็นของที่ปรับเปลี่ยนโหมดได้ง่ายๆ ไม่ซับซ้อนหรือต้องกดหลายปุ่ม ทำหลายขั้นตอน และควรเลือกตัวที่มีระบบตัดไฟฟ้าทันที ถ้าหากเกิดไฟรั่ว

4.  การสื่อความหมายเป็นที่เข้าใจ (Perceptible Information)   

อุปกรณ์ในบ้านบางชิ้นก็ยุ่งยากหลายขั้นตอน ผู้สูงอายุบางท่านอาจจะไม่เข้าใจวิธีใช้งาน แต่ถ้ามีรูปภาพหรือสัญลักษณ์ แสดงวิธีการใช้งานกำกับ แทนตัวหนังสือ ประมาณว่า เห็นปุ๊บก็ใช้เป็นปั๊บ ก็จะใช้งานได้ง่ายขึ้น

  • พวกรีโมท TV , เครื่องปรับอากาศ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรใช้สีหรือสัญลักษณ์แสดงการทำงานต่างๆ คู่กับคำอธิบาย หรือใช้สัญลักษณ์แทนความหมายที่เข้าใจได้ง่าย เช่น ก็อกที่มีสีแดงคือน้ำร้อน ส่วนก็อกสีฟ้าคือน้ำเย็น หรือเครื่องดักจับควันก็ควรจะติดตั้งทั้งระบบเสียงและสัญญาณไฟ ผู้สูงอายุบางท่านที่มีปัญหาเรื่องการได้ยินอาจจะไม่ได้ยินเสียงแต่ยังมอง เห็นสัญญาณไฟ
  • ระบบรักษาความปลอดภัยต่างๆ ภายในบ้าน เช่น คัตเอ้าท์ตัดไฟบนแผงวงจรไฟฟ้าก็ควรจะติดป้ายเขียนระบุว่าเป็นคัตเอ้าท์ไฟ ส่วนใดของบ้านเวลาต้องไปสับคัตเอ้าท์ลงจะได้ไม่ผิดจุด และควรติดตั้งไว้ในจุดที่หาได้ง่าย ไม่ลึกลับซับซ้อนจนหาไม่เจอ

5.  มีการป้องกันเผื่อการผิดพลาด (Tolerance for Error)   

แน่นอน ไม่ว่าเราจะป้องกันล่วงหน้าไว้ดีแค่ไหน บางครั้งอุบัติเหตุก็เกิดขึ้นได้ ถึงเราจะเลือกกระเบื้องชนิดไม่ลื่นแล้วก็ตาม แต่จังหวะผู้สูงอายุหมุนตัวหรือลุกจากที่นั่งก็อาจะมีเซ เสียการทรงตัวได้ ถึงต้องมีแผนสองสำรองเอาไว้ โดยเฉพาะในห้องน้ำ

  • ทำราวจับทั้งส่วนอาบน้ำและสุขา เผื่อไว้ว่าเกิดลุกขึ้นแล้วมีอาการเซหรือจะล้ม เป็นลมหน้ามืดขึ้นมา ก็ยังคว้าไว้ราวจับได้ทัน
  • ในห้องน้ำควรมีสัญญาณฉุกเฉินในห้องน้ำ ถ้าผู้สูงอายุเกิดต้องการความช่วยเหลือขณะอยู่ในห้องน้ำ

6. เบาแรง (Low Physical Effort)   

อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ภายในบ้าน เวลาใช้งานต้องเบาแรง หรือไม่ต้องออกแรง ยก เปิด- ปิดมาก เพราะเรี่ยวแรงของผู้สูงอายุเริ่มจะถดถอยแล้ว หากต้องออกแรงมากๆ อาจจะบาดเจ็บจากการเกร็งออกแรงเอาได้

  • ประตูหน้าต่างหากเป็นไปได้อาจจะเปลี่ยนเป็นแบบบานเลื่อนแทนบานเปิดที่ต้องออกแรงดันเปิดออกหรือดึงเข้า
  • ลูกบิดควรเปลี่ยนเป็นแบบก้านโยก เพราะถ้าคุณหอบหิ้วของมาเต็มมือหรืออุ้มเจ้าตัวเล็กมาด้วยก็ยังสามารถใช้ข้อ ศอกกดก้านโยกเปิดประตูบ้านได้ หรือเป็นประตูที่ใช้บัตรทาบกับตัวเซ็นเซอร์แทนการไขกุญแจ และสามารถปรับเป็นการเปิดเปิดด้วยมือได้ในกรณีไฟฟ้าดับ
  • พวกอุปกรณ์บังคับประตูให้เปิด ปิดเองอัตโนมัติก็เพิ่มความเบาแรงสำหรับคนที่ต้องนั่งรถเข็น แต่ต้องมั่นใจว่าประตูจะเปิดค้างเอาไว้นานพอ และในกรณีที่ไฟดับควรจะมีระบบป้องกันเพราะประตูอาจจะกระแทกตัวผู้สูงอายุ หรือคนที่นั่งรถเข็นตอนเข้าออกประตูได้

7.  มีขนาดและที่ว่างเพื่อการเข้าถึงและใช้งาน(Size and Space for Approach and Use)   

สำหรับบ้านที่มีสมาชิกหลายวัยอยู่ร่วมกัน สรีระของแต่ละคนก็จะไม่เท่ากัน อุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์บางชิ้นอาจต้องปรับตามสรีระของแต่ละคนได้ จะอ้วน ผอม สูง เตี้ย ทุกคนจะต้องใช้งานได้สะดวก และปรับเปลี่ยนได้

  • ประตูบ้านอาจจะขยายขนาดความกว้างออกไปเป็น 90 เซนติเมตรหรือมากกว่านั้นและ/ หรืออาจจะสร้างทางลาดคู่กับบันไดทางเข้าประตูบ้าน เผื่อว่าวันหน้าผู้สูงอายุหรือวันไหนเราเจ็บป่วยเอง จำเป็นต้องนั่งรถเข็นเป็นการชั่วคราว เข้าออกจะได้สะดวก
  • อุปกรณ์ต่างๆ ในบ้าน สามารถปรับระดับความสูงได้ เช่น ที่ฝักบัวอาบน้ำที่ปรับระดับความสูงได้ เก้าอี้ที่มีหลายขนาดและหลายระดับความสูง คนที่มีความสูงต่างกันจะได้เลือกนั่งเก้าอี้ตัวที่นั่งสบาย ไม่ปวดหลังเพราะเกร็ง หรือต้องทนปวดหัวเข่าเวลาที่นั่งงอหัวเข่ามากๆ
  • ใต้โต๊ะ หรือเคาน์เตอร์ครัว ควรออกแบบให้เปิดโล่ง สามารถสอดขาหรือวีลแชร์เข้าไปนั่งได้สะดวก

จริงๆ แล้ว แนวทางของ Universal Design ทั้งเจ็ดข้อนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวเรา บางอย่างเราสามารถปรับเปลี่ยนได้ง่ายโดยที่ไม่ไปกระทบกับอะไรมากนัก อาจจะมีผลกับเรื่องหน้าตาความสวยงามบ้างแต่ก็ถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับการ ที่ทุกคนใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน ปลอดภัย และไม่ต้องเป็นภาระใคร

สำหรับคนที่กำลังปรับปรุง หรือต่อเติมบ้านเพื่อผู้สูงอายุ ก็น่าจะลองเอาเคล็ดลับง่ายๆ พวกนี้ไปปรับใช้กันดูนะคะ พวกท่านจะได้ใช้ชีวิตบั้นปลายที่สุขสบายในบ้าน

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก หนังสือ คู่มือการออกแบบสภาพแวดล้อมสำหรับผู้พิการและคนทุกวัย -สำนักส่งเสริมศักยภาพและสิทธิ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถ้าใครสนใจจริงๆ ที่จะศึกษารายละเอียดจริง เช่น ลักษณะและ slope ของทางลาดที่เหมาะสม ก็สามารถดาวน์โหลดมาอ่านกันได้ที่ คู่มือการออกแบบสภาพแวดล้อมสำหรับผู้พิการและคนทุกวัย

อีกเล่มหนึ่งที่น่าสนใจคือ คู่มือการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและปลอดภัย

0 comments:

Blog Archive