Friday, April 13, 2012

ปรับปรุงบ้านเพื่อผู้สูงอายุ

ปรับปรุงบ้านเพื่อผู้สูงอายุ

            ความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ และสาธารณสุข ประกอบกับการที่ผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจกับเรื่องสุขภาพและโภชนาการมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 
    
            เมื่ออายุมากขึ้น สรีระร่างกายก็เริ่มเปลี่ยนไป ทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะมีอัตราการเตี้ยลงประมาณ 1.2 ซม. เมื่ออายุเพิ่มขึ้น 20 ปี หรือเฉลี่ยความสูงจะลดลง 2 นิ้วในช่วงอายุ 20-70 ปี และจะลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงอายุ 80-90 ปี ขณะที่น้ำหนักตัวของผู้สูงอายุนั้นจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20% และจะคงที่ระหว่างอายุ 65-74 ปี ต่อจากนั้นน้ำหนักจะลดลง
    
            หมอนรองกระดูกสันหลังของผู้สูงอายุจะบางลง ช่องว่างระหว่างปล้องของกระดูกสันหลังแคบลง กระดูกสันหลังสั้นลงทำให้หลังงอ ศีรษะจะเงยขึ้นไปทางหลัง คอสั้น รวมทั้งในส่วนของสายตาก็เสื่อมถอย มีปัญหาสายตายาว ต้อกระจก ทำให้มองไม่ชัด ทั้งยังปรับมองตามระดับแสงได้ช้า การได้ยินของประสาทหูเริ่มไม่ชัดเจน 
    
            จากเดิมที่เคยเดินก้าวยาว ๆ ได้ ผู้สูงอายุก็จะก้าวสั้น ๆ และช้าลงแทน ช่วงเวลาที่เท้าทั้งสองข้างแตะพื้นพร้อม ๆ กันในขณะเดินนานขึ้น เท้ากางออกจากกันมากกว่าปกติ หลังงอและตัวเอนไปข้างหน้าเล็กน้อย แขนกางออกและแกว่งน้อย เวลาหมุนตัวเลี้ยวลำตัวจะแข็งและมีการบิดของเอวน้อย 
    
            ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นอุปสรรคที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ที่ต้องให้ความสำคัญ ดังนั้นจึงได้มีการจัดทำ “โครงการพัฒนาต้นแบบสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุอย่าง มีคุณภาพ” ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนา  ผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) เริ่มปรับตั้งแต่ภายในบ้านไปจนถึงสถานที่สาธารณะ
    
             อ.กตัญญู หอสูติสิมา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า “โครงการดังกล่าวมีการจัดทำพื้นที่ต้นแบบทั้ง 4 ภาค โดยตนรับดูแลในพื้นที่ภาคอีสาน คัดเลือก อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น เป็นพื้นที่ต้นแบบ พร้อมคัดเลือกบ้านเพื่อจัดทำบ้านต้นแบบสำหรับผู้สูงอายุในชนบท ซึ่งส่วนตัวมองว่าบ้านผู้สูงอายุในชนบทมีความลำบากกว่าบ้านผู้สูงอายุที่ อยู่ในเมือง เพราะส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและมีสิ่งอำนวยความสะดวกไม่มาก บางบ้านไม่มีเลย และสิ่งที่พบจากการสำรวจบ้านผู้สูงอายุพบว่า บ้านทั้งหมดมีสภาพที่ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุเลย ซ้ำบางส่วนยังเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จำเป็นที่ต้องปรับปรุง” 
    
             การปรับปรุงบ้านนั้น ไม่จำเป็นต้องทำการปรับเปลี่ยนทั้งหลัง เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ จะใช้พื้นที่ซ้ำ ๆ เช่น ห้องครัว ห้องนอน ชานหน้าบ้าน เป็นต้น ซึ่งอาจปรับเปลี่ยนเฉพาะพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้ง่ายและสะดวกต่อผู้สูงอายุ งบประมาณที่ใช้จึงไม่มาก 
    
             รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าหน่วยวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและคนพิการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำหลักเกณฑ์การปรับปรุงบ้าน 4 ประการ เพื่อผู้สูงอายุ

    

 

           1. ต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย ผู้สูงอายุมักเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มบริเวณห้องน้ำและบันไดเป็นประจำ ต้องปรับปรุงให้พื้นเรียบเสมอกัน โถส้วมให้เปลี่ยนจากนั่งยองเป็นนั่งราบ พร้อมมีราวจับ เพื่อป้องกันการลื่นไถล และใช้พยุงเวลาลุก สำหรับบันไดก็ให้มีราวจับ  ลูกนอนเพิ่มความกว้างจาก 25 ซม. เป็น 30 ซม. ส่วนลูกให้ลดความสูงจาก 18 ซม. เหลือ 15 ซม. 
    
         2. การเข้าถึงบริเวณที่ใช้ทำกิจวัตรประจำวัน พื้นที่โดยรวมต้องเรียบเสมอกัน ไม่มีขั้นที่จะทำให้สะดุดหกล้ม ควรมีราวจับเพื่อป้องกันการลื่นไถล และใช้พยุงตัว ในบริเวณที่ผู้สูงอายุใช้ทำกิจวัตรประจำวัน เช่นจากห้องนอน ไปยังห้องครัว หรือห้องนั่งเล่น 
    
        3. สามารถสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้สูงอายุลุกจากเตียงไปทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ออกไปพบปะพูดคุยกับคนในครอบครัว มีบริเวณให้นั่งทำงานฝีมือเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ เพื่อที่ผู้สูงอายุจะได้ไม่ต้องหมกตัวอยู่แต่ในห้องนอนอย่างเดียว หรืออาจจะจัดพื้นที่สวนให้ผู้สูงอายุได้ออกไปรดน้ำต้นไม้นอกบ้าน ได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนบ้านคนอื่น ๆ ด้วยก็ได้
    
        4. บำรุงรักษาง่าย พื้นบ้านไม่ควรปูพรม เพราะนอกจากจะอมฝุ่นแล้วยังดูแลรักษายาก ถ้าเป็นกระเบื้องก็ต้องเลือกชนิดที่ไม่ลื่น เพื่อป้องกันการลื่นล้ม วัสดุปูพื้นจำพวกไม้และทรายล้างเป็นวัสดุที่เหมาะสมที่สุด ส่วนพื้นที่บริเวณสวนถ้ามีสนามหญ้าก็ต้องคำนึงถึงเรื่องการดูแลรักษา ไม่ให้เป็นภาระของผู้สูงอายุ 
    


            การจัดพื้นที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุเป็นสิ่งจำเป็น แม้ว่าขณะนี้พวกเราในวัยหนุ่มสาวอาจยังไม่เห็นถึงความสำคัญเท่าที่ควร แต่ไม่ว่าอย่างไรวันหนึ่งทุกคนก็ต้องแก่ กลายเป็นผู้สูงวัย 
    
            ดังนั้นการจัดทำสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุไม่เพียงแต่เป็นการทำ เพื่อผู้สูงอายุในบ้าน ในหมู่บ้านแล้ว ยังอาจเป็นการทำเพื่อสำหรับตัวเราเองในอนาคต เพราะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ซึ่งถึงวันนี้เราอาจต้องพึ่งและช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น จึงต้องเตรียมพร้อมไว้เช่นกัน.

 

บ้านเพื่อผู้สูงอายุ

           จากที่ครอบครัวของคนไทยเรานั้น ส่วนใหญ่จะยังเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ ที่มีคุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย อาศัยอยู่ร่วมกันในบ้านหลังเดียว การปลูกบ้าน หรือตกแต่งบ้าน เราก็ควรคำนึงถึงความสะดวก สบาย ปลอดภัยสำหรับคนในครอบครัวเป็นหลักนะครับ โดยข้อควรคำนึงถึงหลักๆ มีดังต่อไปนี้

         กำแพงและประตู : ตำแหน่งต่างบนกำแพง ที่จะติดตั้งหิ้ง หรือ ตู้วางสิ่งของ ควรติดต่ำกว่าปกติ เพื่อให้ผู้สูงอายุที่อาจใช้รถเข็น สามารถใช้งานได้ถนัด

         หน้าต่าง : ปรับให้ขนาดกว้าง และต่ำกว่าปกติ  เพื่อให้มองเห็นวิวภายนอกได้ชัดเจน  เพื่อกระตุ้นการรับรู้ และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

         พื้น : เลือก พื้นผิวเรียบ ไม่ลื่น ไม่มัน ไม่มีลวดลายเยอะเกินไปที่ทำให้เกิดตาลาย  พื้นที่ควรมีระดับเดียวกัน หรือหากต่างระดับต้องทำเครื่องหมายชัดเจน

         สวิตซ์ : กระจาย ในจุดที่เข้าถึงได้สะดวก มีแสงสว่างจากภายนอกส่องถึง

         เก้าอี้และโต๊ะ : เก้าอี้ ควรมีที่เท้าแขน เพื่อสะดวกในการนั่ง และลุกขึ้นยืน  ปรับลดความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ ไม่เกิน 17 นิ้ว โดยเมื่อนั่งแล้วให้เข่าทำมุม 90 องศา ฝ่าเท้าแนบพื้น

         ลูกบิดประตู : เลือกใช้แบบคันโยก เพื่อสะดวกในการจับ

         สี : เลือก ใช้ สีขาว สี ครีม สีเขียว หรือสีจากเนื้อวัสดุธรรมชาติ  ที่ทำให้สบายตาเป็นหลัก และเสริมด้วยสีสด เช่น มีส้ม เหลือง แดง ในเฟอร์นิเจอร์ เพื่อให้เกิดการแยกแยะสีได้ง่ายขึ้น

         แสง : เพิ่ม แสงสว่างทั้งจากธรรมชาติและที่ประดิษฐ์ขึ้น ให้ส่องถึงในทุกจุด เพื่อลดอุบัติเหตุ แต่ไม่ควรเป็นแสงจ้า เลือกใช้แสงนวลโดยเฉพาะบริเวณทางเดิน บันได และห้องน้ำ

0 comments:

Blog Archive